ในยุคที่ Social Media Marketing กำลังเฟื่องฟู การรีวิวเหล้าหรือร้านอาหารกึ่งผับและบาร์ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว การโฆษณาผ่านการจ้างอินฟลูเอนเซอร์อาจนำมาซึ่งโทษทางกฎหมายที่หลายคนอาจมองข้าม
ทำให้ในวันนี้ Sixtygram Digital Agency จะขอพาคุณไปทำความเข้าใจข้อกฎหมายไทยที่สำคัญซึ่งอินฟลูเอนเซอร์และผู้ประกอบการควรรู้ รวมถึงแนวทางการสร้างคอนเทนต์รีวิวร้านเหล้าให้ถูกต้องตามกฎหมายไปพร้อมกัน

อินฟลูเอนเซอร์ร้านเหล้า คืออะไร?
อินฟลูเอนเซอร์ร้านเหล้า คือผู้ที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ซึ่งมักจะแชร์เรื่องราวรีวิวไลฟ์สไตล์การกินดื่ม ปาร์ตี้ และการสังสรรค์ให้กับผู้ติดตามของตัวเอง โดยอินฟลูเอนเซอร์ประเภท(Niche)นี้มักได้รับการติดต่อจากร้านเหล้า ผับ บาร์ต่างๆ ให้ไปรีวิวร้าน แนะนำเมนูเด็ด ถ่ายทอดบรรยากาศ หรือโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อดึงดูดให้คนมาใช้บริการที่ร้านผู้ว่าจ้าง
การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ร้านเหล้านั้นไม่ได้วัดกันที่จำนวนผู้ติดตามหรือยอดไลค์เพียงอย่างเดียว แต่สำคัญที่การได้รับค่าตอบแทนจากร้านเพื่อผลิตและเผยแพร่โฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเงิน สินค้า(เหล้าฟรี) หรือบริการ ทั้งเนื้อหาที่โพสต์นั้นต้องผ่านการบรีฟจากทางร้านด้วย แต่อย่างไรก็ดี อินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้อาจมีความเสี่ยงทางกฎหมายที่หลายคนอาจยังไม่รู้ เพราะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยนั้นมีกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน
ความผิดตามกฎหมายหากอินฟลูเอนเซอร์รีวิวเหล้า

ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการห้ามแสดงภาพผลิตภัณฑ์และการชักจูงให้ดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีบทลงโทษปรับวันละ 5,000 บาท แม้ว่าจะเป็นเพียงการรีวิวผ่านโซเชียลมีเดีย ก็ถือว่ามีความผิดไม่ต่างจากการโฆษณาผ่านป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่
มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร
ดังนั้น จากมาตรา 32 แห่ง พระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 การโฆษณาหรือรีวิวเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของอินฟลูเอนเซอร์จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย อันมีโทษ
- จำคุกไม่เกิน 1 ปี
- ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
- ทั้งจำทั้งปรับ
- ปรับเพิ่มวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลานที่ยังฝ่าฝืน
กรณีตัวอย่างที่มีบุคคลซึ่งได้รับโทษ ได้แก่ คดีรีวิวเบียร์ คุก 8 เดือน ปรับ 150,000 บาท รอลงอาญา 2 ปี, ทนายรัชพล แจ้งความเอาผิด แอ๊ด คาราบาว โฆษณาเบียร์
5 วิธีรีวิวร้านเหล้าไม่ให้ผิดกฎหมาย
การรีวิวร้านอาหารที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายนั้น ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอินฟลูเอนเซอร์ที่รับงานอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้โดยไม่รู้ตัว หลาย Influencer Agency จึงมีวิธีในการนำเสนอร้านเหล้าที่สร้างสรรค์และปลอดภัยภายใต้กรอบของกฎหมายประเทศไทยมาให้คุณปฎิบัติตามกัน 5 ข้อ ดังนี้
1. เน้นรีวิวบรรยากาศและการตกแต่งร้าน

แทนที่จะถ่ายภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงให้เห็นการดื่มเหล้า ให้คุณหันมาเน้นการถ่ายทอดความสวยงามของร้าน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่ง แสงไฟ มุมถ่ายรูปเก๋ๆ หรือจุดเด่นที่น่าสนใจของร้าน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความน่าสนใจให้กับร้านได้โดยไม่ต้องพึ่งภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. นำเสนอเมนูอาหารเป็นหลัก

หลายร้านมีจุดเด่นที่อาหารอร่อย ทั้งอาหารคาว หวาน หรือของทานเล่น ให้เน้นรีวิวที่รสชาติ การตกแต่งจานที่สวยงาม วัตถุดิบคุณภาพ และเมนูแนะนำที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน โดยไม่ต้องพูดถึงว่าอาหารเหล่านี้เหมาะกับการจิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดเพราะอาจเข้าข่ายการโฆษณาได้
3. แนะนำเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ร้านที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายมักมีเมนูม็อกเทล(Mocktail) น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มสร้างสรรค์ที่ไม่มีเหล้าผสมอยู่ด้วย ดังนั้น ให้หันมารีวิวเครื่องดื่มม็อกเทลเหล่านี้แทน โดยเน้นความแปลกใหม่ของรสชาติ การตกแต่งแก้วที่สวยงาม หรือส่วนผสมพิเศษที่น่าสนใจ
4. นำเสนอกิจกรรมและความบันเทิง

หลายร้านมีการแสดงแสงไฟ ดนตรีสด คาราโอเกะ หรือกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ให้เน้นนำเสนอความสนุกสนานจากกิจกรรม(Event)ที่ร้านจัดขึ้นแทน รวมถึงบรรยากาศการพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงการดื่ม
5. ให้แชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

คอนเทนต์ที่ดีคือคอนเทนต์ที่นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจมาใช้บริการร้าน เช่น การแจ้งเวลาเปิด-ปิด เส้นทางการเดินทาง ที่จอดรถ วิธีการจองโต๊ะ โปรโมชั่นอาหาร และหรือสิทธิพิเศษต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงการพูดถึงโปรโมชั่นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เสี่ยง หากแต่แทนที่เนื้อหาในคลิปด้วยความรู้แทน
การรีวิวร้านเหล้าตามแนวทางเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้คุณปลอดภัยจากโทษทางกฎหมาย แต่ยังเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดตามอีกด้วย ที่สำคัญคือต้องระมัดระวังไม่ให้มีการชักจูงหรือกระตุ้นให้เกิดการดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
กฎหมายควบคุมการโฆษณาแอลกอฮอล์ทั่วโลก
ในขณะที่ประเทศไทยมีการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด หลายประเทศทั่วโลกก็มีมาตรการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อันได้แก่
ฝรั่งเศส ถือเป็นประเทศที่มีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่ง โดยห้ามการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกเว้นเฉพาะการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เท่านั้น เช่น ชื่อสินค้า ผู้ผลิต แต่ห้ามพูดถึงสรรพคุณหรือชักชวนให้ดื่มโดยเด็ดขาด
อังกฤษ เน้นการควบคุมเนื้อหาโฆษณาแทนการห้ามโฆษณาทั้งหมด โดยเฉพาะการปกป้องเด็กและเยาวชน โดยห้ามไม่ให้การโฆษณาแอลกอฮอล์มีเนื้อหาที่อาจดึงดูดความสนใจของเด็ก
ออสเตรเลีย มีการควบคุมที่น่าสนใจ คือแบ่งการควบคุมเป็น 2 ระดับ คือ 1.ระดับประเทศที่วางกรอบกว้างๆ และ 2.ระดับรัฐที่มีกฎเข้มงวดเพิ่มเติม เช่น รัฐนิวเซาท์เวลส์ที่เน้นส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ใส่ใจสุขภาพ จึงมีการห้ามโฆษณาและกิจกรรมส่งเสริมการขายแอลกอฮอล์
โปแลนด์ มีจุดเด่นที่การควบคุม ณ จุดขาย โดยต้องปิดผนึกขวดและแสดงเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน พร้อมติดคำเตือนถึงพิษภัยให้เห็นชัดเจน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษสำหรับเบียร์ที่สามารถโฆษณาได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศนั้นมีวิธีการควบคุมที่แตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมสำคัญคือการพยายามลดแรงจูงใจในการดื่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมถึงการให้ข้อมูลที่รอบด้านเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างรู้เท่าทัน

โดยปัจจุบันพบว่า nano influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์ระดับแรกเริ่มที่มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ดูเป็นธรรมชาติ สมจริง และน่าเชื่อถือ ราวกับเพื่อนกำลังแนะนำสินค้าแบบปากต่อปาก
ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลวิจัยจากหลายประเทศชี้ชัดว่า การรับชมคอนเทนต์จากอินฟลูเอนเซอร์สายเหล้ามีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการดื่มของวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในไต้หวันที่พบว่าวัยรุ่นที่ติดตามอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้มีแนวโน้มดื่มและซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น หรือผลการศึกษาที่ระบุว่าธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำลังใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นช่องทางเลี่ยงกฎหมายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน
ด้วยความกังวลนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเรียกร้องให้มีการควบคุมการตลาดดิจิทัล โดยเฉพาะการใช้อินฟลูเอนเซอร์ข้ามประเทศ หลายประเทศเช่น อังกฤษ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎให้อินฟลูเอนเซอร์ต้องเปิดเผยความสัมพันธ์กับแบรนด์ที่พวกเขารีวิว ขณะที่ในประเทศไทยเอง ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการควบคุมคอนเทนต์ในสื่อดิจิทัล พร้อมข้อเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนอินฟลูเอนเซอร์เพื่อให้ผู้สร้างคอนเทนต์ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอในอนาคต