Amintra

9 กันยายน 2024

Social Media คืออะไร? กับ 5 ประเภทโซเชียลมีเดีย

Social Media คืออะไร

โซเชียลมีเดีย(Social Media) หรือสื่อสังคมออนไลน์ คือเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้คนติดต่อสื่อสารและสามารถแบ่งปันข้อมูลออนไลน์ให้แก่กันได้ โดยโซเชียลมีเดียชูจุดเด่นที่เน้นการสร้างชุมชนออนไลน์และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สูงสุด นั่นทำให้ผู้ใช้สามารถแชท ส่งข้อความ แสดงความคิดเห็น ไปจนถึงโพสต์เนื้อหาต่างๆ ที่ส่งถึงกันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ เป็นต้น

socialmedia action.jpg

โดยทั่วไปผู้คนมักใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อกับกลุ่มเพื่อน สมาชิกในครอบครัว และหาเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจคล้ายกัน ในขณะเดียวกัน ธุรกิจต่างๆ ก็ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อทำการตลาดและติดต่อกับลูกค้าของตน หลายบริษัทใช้มันเป็นเวทีระดมความคิด หรือที่เรียกว่า “crowdsourcing” ลองนึกภาพว่าคุณเป็นบริษัทผลิตรองเท้า แทนที่จะคิดดีไซน์เอง คุณอาจจะโพสต์ขอไอเดียจากลูกค้าบนโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ได้ นี่แหละคือพลังของโซเชียลมีเดีย คือมันเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆร่วมกัน

social media แอพมือถือ

ด้วยพลังความนิยมของผู้ใช้ที่สูงขึ้นร่วมกับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของผู้ให้บริการ ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียจึงได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันบนมือถือซึ่งทำให้การเข้าถึงโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ คุณจึงสามารถใช้งานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มได้ 24 ชม. จากทุกที่ทุกเวลาอย่างไร้พรมแดน ยกตัวอย่างของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมในไทย เช่น Facebook, Twitter(X) และ LinkedIn ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตออนไลน์ของผู้คนทั่วโลก ที่ใช้โอกาสจากโซเชียลมีเดียในการการติดต่อ แบ่งปัน และทำงานร่วมกันในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน

ประเภทของ Social Media

โซเชียลมีเดียนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ตามลักษณะเด่นของแต่ละแพลตฟอร์มได้ ดังนี้

1. เว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์

โซเชียลมีเดียประเภทเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, LinkedIn และ Twitter(X) ที่เราคุ้นเคยกันดี โซเชียลมีเดียประเภทนี้เป็นเหมือนจุดศูนย์กลางที่ระบบทำให้ผู้คนมาพบปะ พูดคุย และแบ่งปันเรื่องราวชีวิตแก่กัน ในทางธุรกิจก็สามารถใช้ระบบที่จัดให้มีพื้นที่ศูนย์กลางสารธารณะเหล่านี้เพื่อสร้างชุมชน โต้ตอบกับลูกค้า และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักให้มากยิ่งขึ้นได้

2. แพลตฟอร์มแชร์รูปภาพและไลฟ์สไตล์

โซเชียลมีเดียประเภทแพลตฟอร์มแชร์รูปภาพและไลฟ์สไตล์ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Instagram, Pinterest, Snapchat และแพลตฟอร์มน้องใหม่ในไทยอย่าง Lemon8 ที่เน้นการแชร์ภาพพร้อมกับข้อความหรือวิดีโอสั้นๆ รีวิวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ เทรนด์ หรือความรู้ที่กำลังเป็นกระแส แพลตฟอร์มโซเชีนลมีเดียประเภทเนี้เหมาะมากสำหรับแบรนด์ที่ต้องการนำเสนอสินค้าผ่านภาพที่สวยงาม แคปชั่นหรูหรา น่ารักโดดใจ ทั้งยัง สร้างแรงบันดาลใจ หรือใช้เพื่อแชร์เคล็ดลับต่างๆ กันในกลุ่มผู้ใช้

3. แพลตฟอร์มวิดีโอ

โซเชียลมีเดียประเภทแพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น YouTube และ TikTok อันเป็นตัวแทนของโซเชียลมีเดียประเภทนี้ เน้นการแชร์คอนเทนต์วิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้นหรือยาว แพลตฟอร์มเหล่านี้เหมาะสำหรับการสร้างคอนเทนต์ที่ให้ทั้งความบันเทิงและความรู้ แพลตฟอร์มวิดีโอถือเป็นช่องทางโซเชีนลมีเดียที่ยอดเยี่ยมในการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้อีกช่องทางหนึ่ง

4. ฟอรัมสนทนา(เว็บบอร์ด)

Reddit หรือ Pantip(ในไทย) เป็นตัวอย่างของฟอรัมเว็บบอร์ดหรือกระทู้สนทนาที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถามคำถาม และหาคำตอบในหัวข้อที่สนใจ สำหรับการใช้ในเชิงธุรกิจ โซเชียลมีเดียประเภทนี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลล้ำค่าที่จะเข้าใจความต้องการและความคิดของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากผู้ใช้ส่วนมากที่ใช้แฟลตฟอร์มประเภทนี้จะไม่ระบุตัวตนที่แท้จริง ทำให้ความคิดเห็นแสดงออกได้อย่างอิสระและไร้ข้อจำกัดทางกฎหมายได้มากกว่า

5. แอปแชท

ปิดท้ายด้วยโซเชียลมีเดียประเภทแอปแชทส่งข้อความ เช่น LINE, WhatsApp และ Telegram ที่แม้จะดูเหมือนเป็นแค่แอปคุยส่วนตัว แต่ปัจจุบันหลายธุรกิจใช้ช่องทางนี้เพื่อให้บริการลูกค้า ส่งโปรโมชั่น หรือแม้แต่ขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง นั่นก็เพราะโซเชียลมีเดียประเภทแอปแชทถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้ใกล้ชิดและให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวแก่ลูกค้าได้มากที่สุด

แพลตฟอร์ม Social Media ยอดนิยมมีอะไรบ้าง

social media icons logos mobile phone screen 3d copy scaled 1

เรามาดูกันดีกว่าว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดฮิตในไทยมีอะไรบ้าง ดังนี้

  • Facebook: ถ้าพูดถึงโซเชียลมีเดีย ก็ต้องนึกถึง Facebook เป็นอันดับแรกใช่ไหมล่ะ? เพราะ Facebook เป็นเหมือนสมุดรุ่นดิจิทัลที่เราสามารถอัพเดทชีวิต แชร์รูป และติดต่อกับเพื่อนๆ ได้ตลอดเวลา แถมยังมีฟีเจอร์ Marketplace(ตลาดออนไลน์) ที่ช่วยให้เราซื้อขายของมือสองจากผู้ใช้ Facebook ระหว่างกันได้ง่ายๆ อีกด้วย
  • LINE: แอพนี้เรียกได้ว่าเป็นแอพที่ต้องมีติดเครื่องสำหรับมือถือทุกเครื่องทั่วไทย ที่นอกจากแชทและโทรฟรีแล้ว ยังมี Timeline ให้โพสต์รูป สติกเกอร์น่ารักๆ ให้ส่ง ทั้งร้านค้าออนไลน์แทบทุกร้านในไทยยังมักเลือกใช้ Line เป็นเครื่องมือหลักในการสนทนาและตกลงซื้อขายกับลูกค้าอีกด้วย จึงไม่แปลกเลยที่คนไทยติด LINE กันงอมแงม
  • TikTok: ถ้าคุณชอบความสนุกสนาน ตลก และชอบดูหรือลงคลิปเต้นตามเพลงฮิต TikTok คือคำตอบ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Tiktok นี้เต็มไปด้วยวิดีโอสั้นๆ สุดครีเอทีฟ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ไหน TikTok มีครบ ทั้งยังมีฟีเจอร์ติดต่อกันระหว่างผู้ใช้อย่างอินบ็อกซ์ ไปจนถึงฟีเจอร์ร้านค้า Tiktok Shop ที่เกิดการสร้างอาชีพเป็นนายหน้ารีวิวสินค้าออนไลน์ที่อยู่บน TIktok ได้อีกด้วย
  • Instagram: เหมาะสำหรับคนชอบถ่ายรูปและอยากอวดภาพสวยๆ Instagram เป็นเหมือนแกลเลอรี่ส่วนตัวที่เราสามารถแต่งภาพ แชร์ Story และแม้แต่ไลฟ์สดได้ ที่สำคัญ มันยังเป็นแหล่งรวม influencer มากมายที่พร้อมจะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณทุกวัน
  • Twitter(X): ถ้าคุณเป็นคนชอบเนื้อหาที่พูดตรง ชัดเจน และรวดเร็วที่สุด Twitter(X) คือที่ของคุณ! ด้วยข้อจำกัดทุกการโพสต์ต้องไม่เกิน 280 ตัวอักษร ทำให้ผู้ใช้ต้องคิดก่อนทวีต นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งข่าวด่วนที่เร็วที่สุดอีกด้วย อยากรู้อะไรกำลัเป็นกระแส? แค่ดู trending hashtag(#) บน Twitter ก็รู้แล้ว ตอนนี้ในไทยหรือทั้งโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น
  • LinkedIn: สำหรับมืออาชีพที่อยากสร้างเครือข่ายคอนเน็กชั่นในแวดวงสายอาชีพและนักธุรกิจ LinkedIn คือคำตอบ โซเชียลมีเดียที่มีฟีเจอร์ฝากประวัติ(Resume)ของผู้ใช้ พร้อมหน้าโพสต์ที่สามารถแบ่งปันความรู้ หางาน และสร้างคอนเนคชั่นกับคนในวงการเดียวกัน
  • Lemon8: โซเชียลมีเดียที่เน้นการโพสต์บล็อกสั้น ๆ ของตนเอง เพื่อให้ผู้ใช้รายอื่นแชร์และค้นหาคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ รูปแบบคล้ายกับ Pinterest ผสมผสานกับ Instagram โดยผู้ใช้สามารถโพสต์รูปภาพ วิดีโอ และเนื้อหาบทความอย่างสั้นเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ในหลากหลายแง่มุม เช่น แฟชันเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม รีวิวร้านอาหาร ท่องเที่ยว ของตกแต่งบ้าน และสินค้าหรือกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
  • Pantip: เว็บบอร์ดสัญชาติไทยที่อยู่คู่กับเรามาช้านาน Pantip เป็นเหมือนห้องสมุดความรู้ขนาดใหญ่ที่แบ่งเป็นห้องๆ ตามหัวข้อ อยากรู้อะไร ตั้งแต่เรื่องการเมืองยันวิธีทำขนมไทย Pantip มีคำตอบ
  • YouTube: ยูทูปหลายคนคงเข้าใจว่าเป็นเพียงแพลตฟอร์มดูคลิปวีดีโอออนไลน์ แต่อย่างไรก็ดี YouTube นั้นแท้จริงแล้วมีฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการคอมเมนต์ การกดไลค์ หรือการแชร์วิดีโอ นี่คือแหล่งความบันเทิงและความรู้ที่ไม่มีวันหมด เพราะเจ้าของช่องแต่ละช่อง มักหยิบยกความคิดเห็นของคุณมาทำเนื้อหาใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มชุมชนออนไลน์ของตนอยู่เสมอ
  • Clubhouse: แอพที่เน้นการพูดคุยด้วยเสียง เคยฮิตในไทยอยู่ช่วงหนึ่งและยังคงมีผู้ใช้งานชาวไทยอยู่บ้างในปัจจุบัน ความโดดเด่นของคลับเฮาส์แพลตฟอร์มคือการที่คุณสามารถเข้าร่วมห้องสนทนาในหัวข้อที่สนใจ หรือจะสร้างห้องพูดคุยของตัวเองก็ย่อมได้ เหมาะสำหรับคนที่ชอบฟังพอดแคสต์และอยากมีส่วนร่วมในการสนทนาในหัวข้อที่กลุ่มนั้น ๆ กำลังให้ความสนใจ
  • Pinterest: สวรรค์ของคนชอบ DIY และหาแรงบันดาลใจ Pinterest เป็นเหมือนเว็บบอร์ดที่สามารถปักหมุดสื่อดิจิทัลที่มีครีเอเตอร์เผยแพร่ผลงานของตนเป็นสารธารณะได้ วิธีใช้งานก็ง่ายมาก เพียงคุณเลื่อนดูภาพที่ชื่นชอบตามฟีดของพิน คุณสามารถคลิกจัดเก็บเพื่อเก็บไอเดียสุดเจ๋งไว้ในคลังไอเดียของคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียแต่งบ้าน สูตรอาหาร หรือแม้แต่ลุคแต่งตัวที่พบเห็นได้ยาก

ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อวิถีชีวิตผู้คน

โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วเพราะโลกยุคใหม่กับสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นคู่ที่แยกกันไม่ออกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือธุรกิจ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ต่างก็ใช้โซเชียลมีเดียกันทั้งนั้น เมื่อนึกดูชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไปขนาดไหนจากผลกระทบของการเข้ามาของสื่อโซเชียลมีเดีย ในอดีตคุณอาจจะเริ่มวันใหม่ด้วยการดื่มกาแฟสักแก้วและอ่านหนังสือพิมพ์สักฉบับในช่วงเช้า แต่ปัจจุบัน หลายคนเริ่มต้นวันด้วยการเช็คโทรศัพท์ เลื่อนนิ้วไถดูฟีด Facebook, Instagram หรืออัพเดทข่าวล่าสุดในแพลตฟอร์ม Twitter(X)

คุณอาจเริ่มมองออกแล้วว่าโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีที่เราสื่อสารกันไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง เราไม่จำเป็นต้องนัดเจอเพื่อพบหน้ากันหรือยกหูทรศัพท์เพื่อพูดคุยกันอีกต่อไป เราใช้การส่งข้อความ แชท หรือคอมเมนต์โพสต์ของเพื่อน ๆ กันเป็นเรื่องปกติ เราสามารถติดต่อกับคนที่อยู่อีกซีกโลกได้ในเสี้ยววินาที แชร์ภาพและวิดีโอได้ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ โซเชียลมีเดียนั้นทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับโลกภายนอกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เราละเลยการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับคนรอบข้างไปบ้าง

social media ผลกระทบ

อย่างไรก็ดี โซเชียลมีเดียนั้นอาจมีเรื่องต้องพึงระวัง เช่น ผลกระทบกับวิธีที่เรารับข้อมูลข่าวสาร หลายคนใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นแหล่งข่าวหลัก ในแง่บวก เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ก็ต้องระวังข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนที่แพร่กระจายได้ง่ายบนโซเชียลมีเดีย การรู้เท่าทันสื่อโซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นทักษะสำคัญในยุคนี้

การใช้ Social Media ในเชิงการตลาด(Marketing)

Social Media Marketing หรือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำการตลาดถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจทุกขนาดต่างให้ความสนใจ ลองนึกภาพว่าโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนตลาดนัดขนาดใหญ่ที่มีคนเดินพลุกพล่านตลอด 24 ชั่วโมง การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เหมือนกับการเปิดร้านในตลาดนัดนั้น คุณมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าจำนวนมหาศาล แต่ก็ต้องแข่งขันกับร้านค้าอื่นๆ อีกมากมายเช่นกัน

Social media marketing

ข้อดีที่สำคัญของการทำ Social Media Marketing คือ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ ด้วยข้อมูลผู้ใช้ที่ละเอียดของแต่ละแพลตฟอร์ม นักการตลาดออนไลน์สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ ความสนใจ พฤติกรรมการใช้งาน หรือแม้กระทั่งตำแหน่งที่อยู่ ทำให้งบประมาณการตลาดถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงคนที่มีโอกาสสนใจสินค้าหรือบริการของเราจริงๆ

ถ้าเรารู้จักใช้โซเชียลมีเดียให้ดี มันช่วยให้บริษัทดูดีขึ้น ทำให้คนไว้ใจเรามากขึ้น และทำให้มีคนรู้จักเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราได้พูดคุยกับลูกค้า รับฟังว่าลูกค้าคิดยังไง และทำให้คนรู้จักบริษัทเรามากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถจัดกิจกรรม แคมเปญ หรือการไลฟ์สดเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างกระแสได้อย่างรวดเร็ว

แต่อย่างไรก็ดี เหรียญย่อมมีสองด้าน ด้วยการแข่งขันที่สูงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นความท้าทายสำคัญ ข้อเสียของการทำ Social Media Marketing เกิดจากจำนวนแบรนด์และธุรกิจมากมายที่กำลังเพิ่มจำนวนในการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำการตลาด ทั้งทำให้การสร้างเนื้อหาที่โดดเด่นและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งอัลกอริธึมของแต่ละแพลตฟอร์มก็มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ทำให้กลยุทธ์ที่เคยได้ผลดีอาจใช้ไม่ได้ผลในเวลาอันสั้น นักการตลาดจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในการทำ Social Media Marketing ก็เป็นเรื่องท้าทาย แม้จะมีเครื่องมือวัดผลมากมาย แต่การเชื่อมโยงกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียกับยอดขายหรือผลประกอบการจริงๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่ไม่ได้ขายสินค้าออนไลน์เป็นช่องทางหลักช่องทางเดียว

สุดท้ายนี้ การพึ่งพาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจเป็นความเสี่ยง เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจเปลี่ยนนโยบายหรือคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ธุรกิจจึงควรมีกลยุทธ์การตลาดที่หลากหลาย ไม่พึ่งพาช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากจนเกินไป การตระหนักถึงข้อเสียเหล่านี้จะช่วยให้นักการตลาดวางแผนและรับมือกับความท้าทายได้ดีขึ้น ทำให้การใช้ Social Media Marketing เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

TAG ที่เกี่ยวข้อง: