รู้จัก PK ใน Tiktok คืออะไร?

ในปัจจุบันผู้คนมักใช้แอพลิเคชั่นในการดูวีดีโอสั้นผ่าน Tiktok เป็นทางเลือกหลักมากกว่าสื่อโซเชียลมีเดียอื่น ๆ นั่นทำให้ Tiktok ได้พัฒนาฟีเจอร์ที่หลากหลายขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงแก่ผู้รับชมและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ภายในแพลตฟอร์มของตน ทำให้วันนี้ Sixtygram จะขอแนะนำและอธิบายหนึ่งในฟีเจอร์ยอดฮิตอย่าง PK(พีเค) การแข่งขันระหว่างเหล่าครีเอเตอร์ไลฟ์สดทั้งหลายซึ่งมีผู้ชมเป็นคนตัดสิน

PK คืออะไร ?

PK ย่อมาจาก Player Knockout(เพลย์เยอร์ น็อคเอาท์) คือฟีเจอร์ที่การเปิดไลฟ์สดสามารถเชิญผู้อื่นเข้ามาร่วมไลฟ์สดร่วมกันได้ โดยจะวัดผลแพ้ชนะกันที่คะแนนการแข่งขันซึ่งเกิดจากจำนวนขวัญหรือจำนวนเพชรที่ได้รับจากผู้เข้าชมที่มอบให้ผู้ไลฟ์สดในรอบนั้น ๆ 

โดยทั่วไป เจ้าของช่อง Tiktok คนหนึ่งจะเลือกต่อสู้กับผู้ใช้ Tiktok อีกรายหนึ่ง และเมื่อบัญชีผู้ใช้หรือช่อง Tiktok ทั้งสองรายเลือกต่างตอบรับเข้าร่วม PK ระหว่างกันแลัว ไลฟ์สดของทั้งคู่จะถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมหรือผู้ติดตามของทั้งสองฝ่ายสามารถดูไลฟ์สดทั้งสองไลฟ์ได้ในเวลาเดียวกันในรูปแบบจอคู่ กล่าวคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของไลฟ์สดครั้งนั้น และแต่ละฝ่ายก็สามารถเรียกผู้ติดตามของตนเองมาชมไลฟ์สดได้พร้อมกัน

เกิดอะไรขึ้นใน PK ?

ในการต่อสู่ PK ของแต่ละช่อง เรามักพบว่าเหล่าอินฟลูเอนเซอร์มักนิยมแข่งกันร้องเพลงหรือเต้นเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมเพื่อให้ได้ของขวัญหรือเพชรที่ผู้ชมส่งให้มากกว่าอีกฝ่าย หรือสำหรับอินฟลูเอนเซอร์สายออกกำลังกาย พวกเขาอาจแข่งกันวิดพื้นเพื่อเรียกของขวัญจากคนดู ซึ่งการไลฟ์สด PK มักจะมีบทลงโทษสำหรับผู้แพ้ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างความบันเทิงและเพิ่มความน่าติดตามให้กับผู้ที่กำลังรับชมอยู่ได้อย่างมาก

การแข่งไลฟ์สด PK แต่ละครั้งจะกินเวลา 5 นาทีและสามารถทําได้ในรูปแบบจอคู่ 1 ต่อ 1 (แชร์ไฟล์ร่วมกัน) หรือ 2 ต่อ 2 (เป็นทีม) ก็ย่อมได้

การ PK เกิดขึ้นครั้งแรกตอนไหน ?

การแข่งขันไลฟ์สดแบบ PK บน Tiktok เกิดขึ้นครั้งแรกจากแอพ Tiktok จีน หรือ Douyin ในช่วงปี 2016 อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่ให้ผู้ไลฟ์สดสองฝ่ายแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงของขวัญจากคนดู เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มไลฟ์สดออนไลน์มาอย่างช้านาน เช่น Vibie, Bigo  แต่สิ่งที่ทำให้การแข่ง PK บน Tiktok ได้รับความนิยมอย่างสูงในไทย เกิดจากการที่ดาราหรืออินฟลูเอนเซอร์ใหญ่ในไทยเข้าร่วมไลฟ์สดประเภท PK Tiktok เหล่านี้กันเป็นประจำ

ประโยชน์ของการแข่ง PK กับผู้อื่น

การแข่ง PK ระหว่างผู้คนนั้นเป็นประโยชน์ให้กับ Tiktok เป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกครั้งในการแข่ง PK ระบบของแพลตฟอร์ม Tiktok จะจัดเก็บข้อมูลและพัฒนาอัลกอริทึมให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างสรรค์ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้กับเหล่าครีเอเตอร์ผู้มอบความบันเทิงให้กับผู้ชมในอนาคต

สำหรับอินฟลูเอเซอร์ Tiktoker และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ การแข่ง PK ทำให้เกิดความใกล้ชิดและมีปฎิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ติดตามของตน ทั้งยังสามารถสร้างฐานแฟนคลับใหม่ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นจากการทำเนื้อหาประเภท Collaboration กล่าวคือ คุณอาจชวนผู้ที่มีกลุ่มผู้ติดตามใกล้เคียงกับเนื้อหาที่คุณกำลังสร้างมาร่วม PK เพื่อทำเนื้อหาที่สดใหม่ สร้างแรงบัลดาลใจ หรือสร้างสรรค์ความบันเทิงให้แก่ผู้ติดตามของพวกคุณทั้งคู่ได้ในคราวเดียวกัน บางครั้งคุณอาจได้รับฐานแฟนคลับใหม่ ๆ ที่ชื่นชอบเนื้อหาประเภทที่คุณทำอยู่ แต่ยังไม่เคยพบเห็นคุณ สามารถพบเจอและติดตามคุณได้

PK ใน Tiktok ได้เงินจริงไหม

ในระหว่างการ PK กับผู้อื่น หากผู้ชมไลฟ์สดมอบเพชรซึ่งนับเป็นคะแนนให้กับคุณ คุณไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้(สำหรับ Tiktok ประเทศไทย) ยกเว้นจะมีการตกลงกันระหว่างผู้เข้าแข่งขันหรือมีผู้สนับสนุนหลักของการจัด PK ครั้งนั้นนอกแพลตฟอร์ม แต่อย่างไรก็ดี ผู้ชมสามารถมอบของขวัญซึ่งไม่นับเป็นคะแนนในระหว่างการแข่งขัน PK เช่น ดอกกุหลาบ ไปจนถึง ปลาวาฬแซม ที่ผู้ PK ที่ได้รับสามารถแลกเป็นเงินจริงได้ที่การแจ้งเตือนของระบบหลังจบไลฟ์สด PK ในแต่ละรอบ

วิธีสังเกตมิจฉาชีพหลอกชวนดู PK

PK บน Tiktok นั้นจะต้องถูกจัดขึ้นในแอพลิเคชั่น Tiktok เท่านั้น และผู้จัดไลฟ์สดประเภท PK มักจะไม่มีการจ้างวานเพื่อให้เข้าชมไลฟ์สดของตน หรือชวนให้ลงทุนใด ๆ ภายนอกแพลตฟอร์ม เนื่องจากเราได้รับแจ้งจากผู้สูญเงินจำนวนมาว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างใช้ฟีเจอร์ PK เพื่อหลอกลวง ทั้งเพื่อให้เหยื่อทำกิจกรรม โหวต(Vote) ทำการโอนเงิน หรือชวนลงทุน ให้ทุกท่านโปรดทราบไว้ว่า Tiktok ไม่มีนโยบายใดในการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้เพื่อลงทุนหรือจ้างงานผ่านช่องทางส่วนตัวหรือภายนอกแพลตฟอร์มเด็ดขาด

หากคุณพบเห็นการชักชวนทำงาน ชวนลงทุน เล่นกิจกรรม หรือ การหารายได้จาก PK จงพึงระวังไว้ว่าคุณอาจกำลังถูกมิจฉาชีพสวมรอยเพื่อฉ้อโกง ดังนั้น วิธีสังเกตมิจฉาชีพหลอกชวนดู PK ในประการแรกคุณควรตรวจสอบ “URL(ลิงก์)ของเว็บไซต์ที่ผู้ชักชวนมอบให้ว่าคือ tiktok.com(เท่านั้น) หรือไม่” เพราะเราพบว่าผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากมักถูกอำพรางและหลอกล่อด้วย “URL ปลอม” ดังภาพที่ปรากฎ

ตัวอย่าง 1 : ลิงก์ Tiktok ปลอม
ตัวอย่าง 2 : ลิงก์ Tiktok ปลอม

ดังนั้น หากลิงก์แพลตฟอร์ม PK Tiktok ที่คุณได้รับไม่ใช่ URL tiktok.com ให้สันนิฐานไว้ว่าไม่ใช่เว็บไซต์ทางการของ Tiktok จริงและอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวเพื่อหลอกลวงข้อมูลและกำลังพยายามฉ้อโกงเงินของคุณ สุดท้ายนี้ Sixtygram เอเจนซี่ของเราต้องการให้คนไทยทุกคนเล่น Tiktok อย่างมีสติและรู้ทันมิจฉาชีพออนไลน์ ปลอดภัย ทันสมัย และมีความรู้ ขอบคุณครับ

Categories: ทั่วไป
X