เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นหูกับตำแหน่ง CEO(ซีอีโอ) ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าคือตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในบริษัท ผู้ซึ่งมีหน้าที่นำองกรค์ทั้งสู่ความสำเร็จและความล้มเหลวในโลกของธุรกิจ หากแต่แท้จริงแล้ว CEO ตำแหน่งนี้คืออะไรกันแน่? แล้วพวกเขาเหล่านี้วัน ๆ ทำหน้าที่อะไรบ้าง? แตกต่างกับตำแหน่งอื่นอย่างไร? ทั้งหากคุณเป็นพนักงานที่อยากจะเป็น CEO บริษัท ต้องเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ Sixtygram Agency เราจะพาไปหาคำตอบและแถลงถึงบทบาทของ CEO ให้คุณเข้าใจอย่างถ่องแท้กัน
CEO คืออะไร
CEO(ซีอีโอ) เป็นตัวย่อที่มาจากคำว่า Chief Executive Officer คือประธานบริษัทหรือผู้บริหารสูงสุดซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตัดสินใจและแสดงความรับผิดชอบต่อทุกการกระทำที่เกิดขึ้นในนามของบริษัทนั้น ๆ เรียกได้ว่า CEO เป็นตัวแทนอันชอบธรรมของบริษัทที่จะนำพาองค์กรด้วยการเลือกใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการพัฒนาธุรกิจ ทั้งนี้ CEO ยังทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง คณะกรรมการบริษัท(Board of director) และพนักงานภายในบริษัท

โดยทั่วไปแล้ว CEO มักจะถูกแต่งตั้งขึ้นจากการลงมติในที่ประชุมระหว่างผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัททั้งหมด เนื่องจาก CEO ต้องเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจสูงสุดเพื่อเป็นตัวแทนในการเลือกหรือให้คำตัดสินครั้งสำคัญของบริษัทเสมอ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่การคัดเลือก CEO เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท การเลือก CEO ที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กร ทั้งในด้านธรรมาภิบาล ความขัดแย้งภายใน และนำไปสู่ผลประกอบการที่แย่ลง เป็นต้น
ตำแหน่ง CEO มีหน้าที่ทำอะไร?

CEO หรือ ประธานบริษัท มีหน้าที่หลักคือการจัดการทรัพยากรของบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งดำเนินการผ่านการตัดสินใจครั้งสำคัญในระดับภาพรวมของบริษัท ทั้งยังมีหน้าที่ประสานงานด้านนโยบายระหว่างบอร์ดบริหาร(คณะกรรมการบริษัท) ผู้บริหารระดับสูง(ซึ่งประกอบด้วย CFO, COO, CTO และ CMO เป็นต้น) และ หัวหน้าแผนกทำงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดนโยบายในการบริหารงานไปยังหน่วยที่เล็กที่สุดคือพนักงานบริษัททุกคนทำให้การกำหนดเป้าหมายและทิศทางของบริษัทดำเนินไปด้วยแนวทางอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน
เจ้าของธุรกิจ vs CEO
หากคุณเป็นเจ้าของร้านอาหารหรือแม้ค้าออนไลน์ที่ทำธุรกิจค้าปลีกทั่วไป บางความเข้าใจคุณอาจเรียกตัวเองว่าเป็น CEO หากแต่ความเป็นจริงแล้ว หน้าที่ของ CEO กับเจ้าของธุรกิจทั่วไปนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าในบางครั้งเจ้าของธุรกิจอาจถือว่าตนเองดำรงตำแหน่ง CEO ด้วยก็ตาม กล่าวคือ เจ้าของธุรกิจจำนวนมากเป็นทั้งผู้ถือหุ้นในบริษัทและเป็นผู้ลงทุนซึ่งแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยตนเองทั้งหมด ในขณะที่ CEO อาจไม่จำเป็นต้องมีหุ้นในบริษัทหรือไม่จำเป็นลงทุนในสินค้าหรือแบกรับความเสี่ยงด้านการลงทุนของบริษัทโดยสิ้นเชิง

ในบริษัทขนาดใหญ่ CEO มักจะเป็นมืออาชีพที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทหรือเจ้าของกิจการ เพื่อเข้ามาบริหารและนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่ CEO จะได้รับหุ้นของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทนหรือโบนัสจูงใจ โดยเฉพาะในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน CEO มักจะได้รับส่วนแบ่งหุ้นประมาณ 6-8% ของบริษัท
สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจครอบครัว เรามักพบว่าเจ้าของกิจการทำหน้าที่เป็น CEO ด้วยตนเอง เนื่องจากมีความเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้งและต้องการควบคุมทิศทางการบริหารงานโดยตรง แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น หลายครั้งเจ้าของกิจการอาจตัดสินใจว่าจ้าง CEO มืออาชีพเข้ามาบริหารแทน โดยตนเองอาจปรับบทบาทไปเป็นประธานกรรมการบริษัท(Chairman) เพื่อกำกับดูแลนโยบายในภาพรวม
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็น CEO เสมอไป ซึ่งทั้งสองบทบาทนี้มีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านการลงทุนที่แตกต่างกันชัดเจน
CEO vs MD

ในองค์กรขนาดใหญ่ ตำแหน่ง CEO(ประธานบริษัท) และ MD(กรรมการผู้จัดการ) มีบทบาทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย CEO อยู่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุด จะมุ่งเน้นการกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์โดยรวมของบริษัท รวมถึงเป็นตัวแทนองค์กรในการติดต่อกับหน่วยงานภายนอก
ในขณะที่ MD(กรรมการผู้จัดการ) ซึ่งบางบริษัทจะเรียกว่า “President” จะทำหน้าที่ลงมือบริหารงานประจำวันและคอยควบคุมดูแลการดำเนินงานภายในบริษัท โดยนำนโยบายที่ CEO กำหนดไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผล ทั้งนี้ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจะเป็นผู้คอยรายงานผลการปฎิบัติงานซึ่งขึ้นตรงต่อ CEO และมักจะดูแลงานภายในองค์กรเป็นหลัก เช่น การบริหารจัดการผู้บริหารระดับสูง ประสานงานระหว่างแผนกทางธุรกิจต่างๆ และการควบคุมดูแลการทำงานของแต่ละฝ่าย
CEO Vs CFO Vs COO Vs CTO Vs CMO
ในโครงสร้างการบริหารของบริษัทใหญ่ นอกจากตำแหน่ง CEO และ MD แล้ว ยังมีผู้บริหารระดับสูงอีกหลายตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน โดยแต่ละตำแหน่งจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
CFO
CFO (Chief Financial Officer) คือ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้านการเงินทั้งหมดของบริษัท ตั้งแต่การบริหารงบประมาณ การจัดทำรายงานทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง ไปจนถึงการวางแผนและคาดการณ์ทางการเงินในอนาคต นอกจากนี้ CFO ยังมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลเชิงลึกทางการเงินเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของบริษัท และเป็นผู้ประสานงานหลักในการติดต่อกับนักลงทุนหรือแหล่งเงินทุนภายนอกบริษัท เป็นต้น
COO
COO (Chief Operating Officer) คือ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จะทำหน้าที่เป็นมือขวาของ CEO โดยรับผิดชอบการบริหารงานภายในองค์กรทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าวิสัยทัศน์ที่ CEO วางไว้จะถูกนำไปปฏิบัติได้จริง COO จะดูแลการดำเนินงานและบริหารจัดการหน่วยธุรกิจต่างๆ โดยตรง
CTO
CTO (Chief Technology Officer) คือ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี มีหน้าที่กำกับดูแลด้านเทคโนโลยีทั้งหมดของบริษัท ตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
CMO
CMO (Chief Marketing Officer) คือ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินกลยุทธ์ด้านการตลาดทั้งหมด ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ การทำการตลาด การสื่อสารองค์กร ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ของบริษัท
สำหรับด้านลำดับขั้นการบังคับบัญชา CEO จะเป็นผู้บริหารสูงสุด โดยมี COO และ CFO อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันและรายงานตรงต่อ CEO ทั้งสามตำแหน่งนี้จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ต่างๆ ที่วางไว้จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของบริษัท สำหรับบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัท Tech หลายแห่ง อาจมีความจำเป็นต้องมีทั้ง CTO และ CIO(Chief Information Officer) เป็นสองตำแหน่งแยกระหว่างกัน เพื่อดูแลด้านเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
คุณสมบัติที่จำเป็นของ CEO

การที่จะก้าวขึ้นมาเป็น CEO นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีใครเกิดมาเป็น CEO ที่สมบูรณ์แบบ ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้จำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านความรู้ (Knowledge)
CEO จำเป็นต้องมีความรู้ที่ลึกซึ้งในการบริหารธุรกิจ เข้าใจพลวัตรของอุตสาหกรรม และมีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายระยะยาวและการวางตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
2. ด้านความสามารถ (Competencies)
นอกจากความรู้แล้ว CEO ต้องมีทักษะที่หลากหลาย โดยเฉพาะความเป็นผู้นำและความสามารถในการสื่อสาร ต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจและนำทีมที่มีความหลากหลาย สร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริษัท นักลงทุน หรือหน่วยงานภายนอก อีกทั้งยังต้องมีความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์วิกฤต และการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ด้านประสบการณ์ (Experience)
CEO ต้องมีประสบการณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับความท้าทายขององค์กร ต้องเคยผ่านการตัดสินใจที่สำคัญในสถานการณ์ที่กดดัน และสามารถปรับตัวรับมือกับความไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี ความยืดหยุ่น ความสามารถในการปรับตัว และการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น
4. ด้านทัศนคติ (Personal Attitude)
ทัศนคติถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของ CEO เพราะต้องสอดคล้องกับทิศทาง ความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมองค์กร โดย CEO ต้องมีทั้ง
- ความกระตือรือร้น (Passion) ในการขับเคลื่อนองค์กร
- คุณธรรมและความซื่อสัตย์ (Integrity) เพื่อสร้างความไว้วางใจทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- ความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น (Empathy) ในการบริหารจัดการทีมงาน
- จิตอาสา (Public Mind) ที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
การพัฒนาตนเองสู่การเป็น CEO ต้องใช้เวลาและความทุ่มเท องค์กรชั้นนำหลายแห่งมีระบบการพัฒนาผู้นำที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้บริหารในทุกระดับ เพื่อสร้างผู้นำที่มีศักยภาพสำหรับอนาคต ผู้ที่มุ่งหวังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO จึงควรใช้โอกาสเหล่านี้ใน
พนักงานเป็น CEO ได้หรือไม่?
คำตอบคือได้อย่างแน่นอน เพราะหลายครั้งการเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานธรรมดาแล้วก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO นั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ที่มักเลื่อนตำแหน่งผู้บริหารจากบุคลากรภายในที่มีประสบการณ์และเข้าใจองค์กรเป็นอย่างดี จากการสำรวจพบว่ามี CEO หลายท่านที่เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานระดับล่างและค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา โดยมีเพียง 10% ของ CEO ในบริษัทชั้นนำระดับโลกเท่านั้นที่จบ MBA จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นคือ Jensen Huang ผู้ก่อตั้งและ CEO แห่ง NVIDIA บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่เริ่มต้นชีวิตจากการเป็นเพียงเด็กล้างจานในร้านอาหาร Denny’s ก่อนจะค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นพนักงานในบริษัท LSI Logic Corp. และสุดท้ายได้ก่อตั้ง NVIDIA จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
เส้นทางการเติบโตจากพนักงานสู่ CEO มักเริ่มจากการทำงานในตำแหน่งระดับปฏิบัติการ จากนั้นค่อยๆ เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้างาน ผู้จัดการแผนก ผู้อำนวยการฝ่าย จนถึงผู้บริหารระดับสูง ระหว่างทางสิ่งสำคัญคือต้องสั่งสมประสบการณ์ในหลายด้าน ทั้งงานปฏิบัติการ การตลาด และการเงิน การได้ทำงานในหลายแผนกจะช่วยให้เข้าใจการทำงานของธุรกิจอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย

สิ่งที่องค์กรมองหาเมื่อต้องการเลื่อนตำแหน่งพนักงานขึ้นเป็น CEO คือความสามารถในการเป็นผู้นำที่พิสูจน์ผ่านผลงาน พวกเขาจะดูประวัติการนำทีมที่ประสบความสำเร็จ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การสร้างการเติบโตให้องค์กร และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้น พนักงานที่มีเป้าหมายจะเป็น CEO ควรแสดงศักยภาพเหล่านี้ให้เห็นตั้งแต่เริ่มทำงาน
สำหรับพนักงานที่ตั้งเป้าจะก้าวขึ้นเป็น CEO ควรเริ่มจาก
- ทำงานปัจจุบันให้ดีที่สุดและสร้างผลงานที่โดดเด่น
- มองหาโอกาสในการเรียนรู้งานจากหลายแผนก
- อาสารับผิดชอบโครงการสำคัญเพื่อแสดงความสามารถในการเป็นผู้นำ
- พัฒนาทักษะการบริหารและภาวะผู้นำอย่างต่อเนื่อง
- สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- เรียนรู้จากผู้บริหารระดับสูงในองค์กรผ่านการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring)
แม้จะเป็นเส้นทางที่ต้องใช้เวลาและความทุ่มเท แต่การก้าวจากพนักงานสู่ CEO ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน หากมีความมุ่งมั่น พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเลื่อนตำแหน่งจากภายในมากขึ้น เพราะพนักงานที่เติบโตมาจากภายในองค์กรจะเข้าใจวัฒนธรรม ค่านิยม และการดำเนินงานขององค์กรได้ดีกว่าการรับผู้บริหารจากภายนอกเสมอ